โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ร่วมพิธีวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ | คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา ร่วมพิธีวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ

เผยแพร่เมื่อ : อาทิตย์ 1 ตุลาคม 2566 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 1278 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นายนริศ กำแพงแก้ว ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์  นำบุคลากรกองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมพิธีวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ประจำปี 2566 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเทอดทูนและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะและกล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติ พร้อมด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกหมู่เหล่าที่เข้าร่วมพิธี

     วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีถือเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี พระราชโอรสองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพ วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 และเสด็จเสวยราชสมบัติ พ.ศ. 2394 ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจที่สำคัญมากมายอาทิเช่น

      ด้านการทำนุบำรุงพระศาสนา พระองค์ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง โดยทรงตั้งธรรมยุตติกาวงศ์ขึ้น เป็นนิกายใหม่ในพระพุทธศาสนา ที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและระเบียบแบบแผน  ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศด้วยเหตุที่ทรงสนพระทัยในวิทยาการตะวันตกมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ จึงทรงคุ้นเคยกับชาวตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษเป็นอย่างมาก ทั้งยังเกี่ยวข้องกับเสนาบดีสกุลบุนนาคเช่นพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์นั้นก็เป็นผู้สนิทสนมและนิยมอังกฤษ เช่นนี้ในรัชสมัยของพระองค์จึงเปิดความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง มีการทำสัญญากับต่างประเทศถึง 10 ประเทศ ทรงยึดนโยบาย "ผ่อนสั้น ผ่อนยาว" มาใช้กับประเทศมหาอำนาจเป็นพระองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ อันทำให้ไทยสามารถดำรงเอกราชอยู่ได้จนทุกวันนี้ พระองค์ได้ส่งคณะทูตไทยโดยมีพระยามนตรีสุริยวงศ์เป็นราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพ็ชภักดีเป็นอุปทูต หมื่นมณเฑียรพิทักษ์เป็นตรีทูต นำพระราชสาส์นไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษนับเป็นความคิดริเริ่มให้มีการเดินทางออกนอกประเทศได้ เนื่องจากแต่เดิมกฎหมายห้ามมิให้ เจ้านาย พระราชวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่เดินทางออกจากพระนคร เว้นเสียแต่ไปในการสงครามกับกองทัพ

      พระองค์โปรดเกล้าให้ชาวต่างประเทศรับราชการเป็นกงสุลไทย เช่น เซอร์ จอห์น เบาริง อัครราชทูตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ เข้ามาทำสนธิสัญญากับประเทศไทยเป็นชาติแรก เมื่อ พ.ศ. 2398 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ" เป็นกงสุลไทยประจำกรุงลอนดอน และพระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนและขุดคลองให้เป็นทางสัญจรอย่างใหม่ สำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ เช่น การสร้างถนนเจริญกรุงเป็นสายแรก ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และ ถนนสีลม ส่วนคลองได้แก่ คลองผดุงกรุงเกษม คลองภาษีเจริญ คลองหัวลำโพง คลองมหาสวัสดิ์ และคลองดำเนินสะดวกเป็นต้น







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon