เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 28 มีนาคม 2567 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 861 คน
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง และอาจารย์ที่ปรึกษาฯ นำเสนอผลการศึกษาและการดำเนินโครงงานปริญญานิพนธ์แก่ผู้จัดการโครงการและวิศวกรเหมืองแร่ ณ บริษัท บี.ที.ไมท์นิ่ง จำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจ
สำหรับการนำเสนอผลงานปริญญานิพนธ์ที่ดำเนินการร่วมกับบริษัท บี.ที.ไมท์นิ่ง จำกัด” มีอาจารย์ฤทัยภัทร ศุกระศร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ ปริญญานิพนธ์เรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอะไหล่คงคลัง” ดำเนินโครงงานโดย นาย จักรพันธ์ หอระดี และนางสาว ธนาพร หอมจันทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอะไหล่คงคลัง จากการศึกษาพบว่าหลังจากการบริหารการจัดการอะไหล่คงคลังมีต้นทุนรวมลดลง 43,459.39 บาทต่อปี คิดเป็น 56.76% ปริญญานิพนธ์ เรื่อง “การวางแผนบำรุงรักษาเชิงป้องกันรถขุดเจาะหลุมสำหรับวางวัตถุระเบิด ดำเนินโครงงานโดย นายกษิดิศ สุวรรณมณี และนายกฤษณะ คุณป๊อก มีวัตถุประสงค์ของโครงงานเพื่อเพิ่มผลประสิทธิภาพโดยรวมของรถขุดเจาะรูระเบิด และลดการหยุดเครื่องจักรฉุกเฉิน ผลการศึกษาหลังดำเนินโครงงานคือเครื่องจักรมีค่าการหยุดทุกกรณีลดลง และมีประสิทธิภาพโดยรวม เพิ่มขึ้น 16.45% ปริญญานิพนธ์ เรื่อง “ออกแบบพัฒนาหัวเจาะสำหรับเจาะรูระเบิด โดย นายจักกริน ศรีจันทร นายต่อศักดิ์ ประชาพฤธ และนายพัฒนไชย บุญธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาสาเหตุและปัญหาการสึกหรอของหัวเจาะปัจจุบัน เพื่อออกแบบและพัฒนาหัวเจาะสำหรับรถเจาะรูระเบิด และเปรียบเทียบประสิทธิภาพหัวเจาะปัจจุบันและหัวเจาะใหม่ที่ทำการออกแบบ ผลลัพธ์ที่ได้จากการปรับปรุงพบว่าประสิทธิผลของหัวเจาะรูระเบิด ความเร็วรอบเฉลี่ยในการเจาะรูระเบิด หน้าดิน Red Bed ของหัวเจาะ หน้าดิน Shale และความพึงพอใจจากผู้ใช้งานรถขุดเจาะเพิ่มขึ้น
การจัดทำปริญญานิพนธ์ครั้งนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง รายวิชา โครงงานวิศวกรรมการผลิต (ENGIE211) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศกร สุรินทร์ อาจารย์อนาวิล ทิพย์บุญราช และอาจารย์ฤทัยภัทร ศุกระศร เป็นอาจารย์ผู้สอน ซึ่งนักศึกษาต้องทำความรู้ที่ได้ศึกษาตลอดหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาประมวลผลและทำเป็นปริญญานิพนธ์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับสถานประกอบการ ในกรณีศึกษาดังกล่าวคือ บริษัท บี.ที.ไมท์นิ่ง จำกัด ประกอบกิจการระเบิดหินและย่อยหินประกอบกิจการเหมืองแร่ โรงงานถลุงแร่ แยกแร่ แปรสภาพแร่ หลอมแร่ แต่งแร่ สำรวจแร่ บดแร่ ขนส่งแร่ การดำเนินโครงงานทั้ง 3 หัวข้อ นับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของบริษัทได้เป็นอย่างดี
ข่าว :จารุวรรณ สุยะ
ภาพ : อาจารย์ฤทัยภัทร ศุกระศร
ที่มาของข่าว : อาจารย์อนาวิล ทิพย์บุญราช / อาจารย์ฤทัยภัทร ศุกระศร
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา