เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 25 กรกฎาคม 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 2430 คน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา 11 หน่วยงาน ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการวิจัยและนวัตกรรมสร้างสรรค์ ครั้งที่ 9 ประจำปี2566 “…สู่วิจัยรับใช้สังคม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยนวัตกรรม เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” (The 9th Conference and Research Innovations: CRCI 2023) ภายใต้โครงการเผยแพร่และผลักดันผลงานทางวิชาการ ผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์โดยการจัดประชุมวิชาการระดับชาติระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมดิเอมเพรส เชียงใหม่ เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเองในการเข้าร่วมนำเสนอผลงานในระดับชาติและนานาชาติ และเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวคิดในการพัฒนางานวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ ระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เกิดการพัฒนาและสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาผลงานทางวิชาการ และสร้างงานวิจัยใหม่ร่วมกันต่อไปในอนาคต โอกาสนี้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและ ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวรายงาน โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเป็นประธานเปิดงานซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมงาน
การประชุมวิชาการครั้งนี้ มีการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เรื่องการเป็นเครือข่ายเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมวิชาการวิจัยและนวัตกรรมสร้างสรรค์และการนำงานวิจัย นวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ระหว่างสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมและการประดิษฐ์ไทย ร่วมกับ 10 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทร์น มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยพิษณุโลก เพื่อร่วมกันดำเนินงานจัดการประชุมวิชาการวิจัยและนวัตกรรมสร้างสรรค์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการประชุมวิชาการระดับชาติของประเทศไทยโดยใช้ทรัพยากรและความสามารถตามภารกิจหลักของแต่ละฝ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งสถาบันการศึกษาจะให้การสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการจัดการบทความ และคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ การพิจารณาบทความ การจัดกลุ่มการนำเสนอ การคัดเลือกคณะกรรมการประจำกลุ่มการนาเสนอ การพิจารณารางวัลการนำเสนอ การพิจารณาบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ประธานในพิธี กล่าวว่า “กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีนโยบายในการสนับสนุนการสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ตอบสนองความต้องการของประเทศ โดยการวิจัยนั้นถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การนำเสนอผลงานวิชาการก็จะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอด จนพัฒนาสู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ต่อไป”
กิจกรรมภายในงานมีการบรรยายพิเศษ บรรยายพิเศษหัวข้อ “แนวโน้มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทย” โดยนางปัทมา กฤษณะรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 และการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” โดย นายสกล สุพรรณบรรจง ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และการนำเสนอผลงานทางวิชาการในภาคบรรยาย ภาคโปสเตอร์ การประกวดสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ผลงานสร้างสรรค์ การจัดแสดงนิทรรศการเปิดบ้านงานวิจัยราชมงคล้านนา การเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ” โดยตัวแทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และหัวข้อ “สถาบันการศึกษากับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” โดยภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา
สามารถดาวน์โหลดภาพได้ที่ CRCI2023
คลังรูปภาพ : crci2023
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา