โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านวิชาการเหมืองแร่ ร่วมกับ กฟผ.แม่เมาะ ต่อเนื่องเป็นฉบับที่ 4 พร้อมเดินหน้าสร้างงานวิจัยและบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเหมืองแร่   | คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านวิชาการเหมืองแร่ ร่วมกับ กฟผ.แม่เมาะ ต่อเนื่องเป็นฉบับที่ 4 พร้อมเดินหน้าสร้างงานวิจัยและบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเหมืองแร่

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 22 มิถุนายน 2566 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 914 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

     มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ล้านนา เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) แม่เมาะ ต่อเนื่องเป็นฉบับที่ 4 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาและงานวิจัยทางด้านเหมืองแร่ และการสร้างความเข้มแข็งให้คณาจารย์และนักศึกษา มทร.ล้านนา ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับการเสริมสร้างให้ กฟผ.แม่เมาะ เป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ ศึกษา ฝึกอบรมด้านวิชาการเหมืองแร่แก่สถาบันการศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน

     วันที่ 21 มิถุนายน 2566 ที่ห้องประชุม M1 อาคารที่ทำการเหมืองแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิจจา ไชยทนุ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยฯ ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องความร่วมมือด้านวิชาการเหมืองแร่ ร่วมกับนายประจวบ คำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เป็นผู้แทน กฟผ. พร้อมด้วยผู้แทนสถาบันการศึกษาอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างและพัฒนาการศึกษาวิจัย และพัฒนาบุคลากรทางด้านเหมืองแร่ให้มีความรู้ความสามารถและมีความพร้อมในเชิงทฤษฏีและปฏิบัติ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั้งในและต่างประเทศ โดยเจตนารมณ์ที่ระบุในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ประกอบด้วยกิจกรรม

1. การจัดกิจกรรมค่ายวิชาการ (Mining Camp) ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้เสริมสร้างทักษะประสบการณ์จากการได้สัมผัสกระบวนการทำเหมืองแร่ และแบ่งปันและความรู้ทางด้านทฤษฏีและปฏิบัติ เป็นการเชื่อความสัมพันธ์ของนักศึกษาระหว่างสถาบันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อันจะทำให้เกิดเครือข่ายบุคลากรทางด้านเหมืองแร่ในอนาคตต่อไป

2. กิจกรรมด้านงานวิชาการและงานวิจัย โดยจะได้ร่วมกันดำเนินงานวิจัยพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพให้เหมืองแม่เมาะเป็นสถาบันแห่งการศึกษาเรียนรู้ และฝึกอบรมทางด้านเหมืองแร่ แก่สถาบันการศึกษาของภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และบุคลากรทางด้านการทำเหมืองแร่ รองรับการพัฒนาของวงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ต่อไป

   และในโอกาสเดียวกันนี้ นางสาวศุภมาศ ชัยชนะ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ได้บรรยายทางวิชาการเรื่อง “คุณสมบัติทางด้านวิศวกรรมของชั้นดินแดงจาเหมืองแม่เมาะสำหรับปิดทับถ่านหินโผล่ในผนังบ่อเหมืองสุดท้าย (Engineering Properties of Redbed Soli from Mae Moh Mine for covering coal outcrop in final mine pit wall  )” ให้กับผู้เข้าร่วมพิธีได้ฟังภายหลังเสร็จสิ้นการลงนามบันทึกความเข้าใจ

(ขอบคุณภาพ/ข้อมูล : อ.วิทยากุล  สิทธิสาร)







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา