โลโก้เว็บไซต์ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมกับ เนคเทค และมทร.ล้านนา พร้อม 3 พันธมิตร มหาวิทยาลัยภายใต้กระทรวง อว. ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม AI ส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์เส้นทางการค้าสุวรรณภูมิ | คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมกับ เนคเทค และมทร.ล้านนา พร้อม 3 พันธมิตร มหาวิทยาลัยภายใต้กระทรวง อว. ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม AI ส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์เส้นทางการค้าสุวรรณภูมิ

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 15 มิถุนายน 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 2472 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

         วันที่ 13  มิถุนายน 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมลงนามความร่วมมือดำเนินการวิจัยและพัฒนาในโครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์สู่จักรวาลนฤมิตร (AI-MHT)” ร่วมกับสมาคมปัญญาประดิษฐ์ไทย (AIAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI พัฒนาขึ้นเป็นแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์เส้นทางการค้าดินแดนสุวรรณภูมิเริ่มดำเนินการการศึกษาเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรภาคใต้ตอนบน นําร่องจังหวัดระนองและชุมพร ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าระหว่างคาบสมุทรที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน มีข้อมูล ร่องรอยทางวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงการศึกษาประวัติศาสตร์ การค้าขาย และการท่องเที่ยว รวมถึงต่อยอดไปสู่การพัฒนาขึ้นเป็นระบบอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการฯ เพื่อเป้าหมายสำคัญในการนำเทคโนโลยี AI เข้าไปช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ พัฒนาให้เกิดชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วยข้อมูลทางวัฒนธรรม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สู่การยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

       เมื่อโครงการนี้ประสบผลสำเร็จจะทำให้เกิดองค์ความรู้ที่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ มีโครงสร้างการนําเสนอข้อมูลในรูปแบบกราฟความรู้ DBpedia ภาษาไทย ที่ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ง่าย สามารถนําไปต่อยอดใช้ประโยชน์กับระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ได้อย่างสะดวกรวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ถาม-ตอบอัจฉริยะ (AI Chatbot) เพื่อช่วยเหลือในค้นหาข้อมูลประวัติศาสตร์ การพัฒนาต้นแบบจําแนกข้อความประวัติศาสตร์ให้ผู้ใช้งาน การนำข้อมูลจากสารานุกรมออนไลน์ของแพลตฟอร์ม KGen for historical data ไปใช้ประกอบในการศึกษาความรู้ ต่อยอดพัฒนาแอปพลิเคชันแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สร้างเรื่องราวพัฒนาขึ้นเป็นเกมออนไลน์ที่สนุกสนานสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ได้รับความสนใจ ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวตามเส้นทางวัฒนธรรมเพื่อเป็นต้นแบบและสามารถขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

 

ขอบคุณ: ภาพ/ข้อมูล จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon