เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 1 เมษายน 2564 โดย นางปภาดา พลอยอิ่ม จำนวนผู้เข้าชม 6542 คน
ตามที่สาขาสัตวศาสตร์และประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และ คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก ได้ดำเนินงานบริการวิชาการ โครงการหมู่บ้านไก่สวยงามเหลืองหางขาวพระเจ้า 5 พระองค์ บ้านหัวแท ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 – ปัจจุบัน จนประสบความสำเร็จด้านอาชีพ เป็นหมู่บ้านแม่ข่ายต้นแบบด้านการนำเอาหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชุมชน ของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ด้วยเหตุนี้ วันที่ 1 เมษายน 2564 ดร.ยรรยง เฉลิมแสน พร้อมด้วย ผศ.ดร.ณิฐิมา เฉลิมแสน ผศ.สุพรรัตน์ ทองฟัก หัวหน้างานวิจัยและบริการวิชาการ พร้อมด้วย คณาจารย์ พนักงานเจ้าหน้าที่ และนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก ร่วมกับ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน บ้านหัวแท ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก ร่วมพิธีบวงสรวงและสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประจำปี 2564 เพื่อความเป็นสิริมงคลกับกลุ่มผู้เลี้ยงไก่สวยงามเหลืองหางขาว พระเจ้า 5 พระองค์ สามารถสร้างอาชีพในครัวเรือนต่อไปกับกลุ่มอื่นๆ และเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความสามัคคีในชุมชนได้ และสามารถสร้างเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ ต่อไป http://www.clinictech.ops.go.th/online/pages/scivillage_view.asp?vid=696
ไก่เหลืองหางขาว เป็นไก่พื้นเมืองไทยที่มีมาแต่โบราณ มีถิ่นกำเนิดแถบภาคเหนือของไทย บริเวณบ้านหัวแท ตำบลบ้านกร่างอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นไก่ประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมัยทรงพำนักอยู่กรุงหงสาวดี ประเทศพม่า ได้ทรงนำไก่เหลืองหางขาวจากเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นเมืองที่ทรงประสูติและพระราชบิดาทรงครองเมืองนี้ ไปชนกับไก่ชนของพระมหาอุปราชา จังหวัดพิษณุโลกเป็นแหล่งกำเนิดไก่พันธุ์เหลืองหางขาวพันธุ์ดีสายเลือดแท้ เป็นที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป ข้อมูลนี้มาจากกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์
ไก่เหลืองหางขาวที่นิยมเป็นพันธุ์แท้ดั้งเดิม ต้องเป็นไก่บ้านกร่างบ้านหัวเท จังหวัดพิษณุโลก ไก่เหลืองหางขาว เป็นไก่ฉลาดปราดเปรียว อึด ทน เป็นไก่เชิงแปดกระบวนท่า ไก่เหลืองหางขาวจึงชนะไก่พม่ามาตลอด ครั้งหนึ่งไก่ไทยชนกับไก่พม่าหน้าพระที่นั่ง ไก่เหลืองหางขาวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตีไก่เหลืองโยดอกหมากหางดำของพระมหาอุปราชาคอหักล้มลงและแพ้ ทำให้พระมหาอุปราชทรงอับอาย กล่าวแก้ว่า ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงกล่าวตอบโต้ด้วยความภาคภูมิว่า “ไก่เชลยตัวนี้อย่าว่าแต่จะตีอย่างกีฬาในวังเหมือนวันนี้เลย ตีพนันเอาบ้านเมืองกันก็ยังได้”
จากพระราชดำรัสที่ทรงกล่าวโดยไม่สะทกสะท้านและมั่นพระทัยในไก่เหลืองหางขาวของพระองค์ ทำให้พระมหาอุปราชาทรงเกรงกลัว หาหนทางกลั่นแกล้งและกำจัด เป็นผลทำให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าได้ ไก่เหลืองหางขาวจึมีชื่อเสียงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ไก่เจ้าเลี้ยง” และ “ไก่พระนเรศวร”ซึ่งปัจจุบันชาวพิษณุโลกมีความภาคภูมิใจและหวงแหนในสมบัติล้ำค่าทางประวัติศาสตร์นี้มาก จึงมีการอนุรักษ์และพัฒนาไก่สายพันธุ์นี้มาโดยตลอด ในประเทศที่มีกีฬาชนไก่จะรู้จักไก่ไทยเหลืองหางขาวเป็นอย่างดี
**ขอบคุณบทความข่าวนี้จาก www.naewna.com**
ภาพ/ข่าว - ปภาดา พลอยอิ่ม
คลังรูปภาพ : 1เม.ย.64บวงสรวงบ้านหัวแท
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา